ประวัติสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย

สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2511 โดยกลุ่มนักกอล์ฟอาชีพซึ่งนอกจากการแข่งขันกอล์ฟแล้ว ได้ยึดอาชีพในการสอนกอล์ฟด้วย ได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อสมาคมว่า “สมาคมครูกอล์ฟ” โดยมีโปรชะลอ จุลกะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯคนแรก (พ.ศ. 2511-2517)

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2532 สมาคมฯ ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ขอจดทะเบียนตั้งสมาคมฯ โดยใช้ชื่อสมาคมว่า “สมาคมนักกอล์ฟอาชีพไทย”

การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการติดตามและพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคม ได้ประชุมครั้งที่ 10/2533 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2533 พิจารณาเห็นว่าการขออนุญาตจัดตั้งสมาคมไม่ขัดต่อนโยบายของ การกีฬาแห่งประเทศไทย แต่ขอให้ตัดคำว่า “ไทย” ออกจากชื่อสมาคม เนื่องจากขัดต่อมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติ การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 โดยให้ใช้ชื่อว่า “สมาคมนักกอล์ฟอาชีพ”

ในปี พ.ศ. 2539 สมาคมฯ ได้ยื่นจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสมาคมฯ ต่อกองตำรวจสันติบาล โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับข้อ 1 ขอเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น “สมาคมกอล์ฟอาชีพไทย” เมื่อ วันที่ 9 มกราคม 2539

ในปี พ.ศ. 2544 สมาคมฯ ได้ทำหนังสือ เลขที่ สกอ 44/2544 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2544 เรื่องขอเปลี่ยนสถานภาพและใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พร้อมสำเนาการประชุม ครั้งที่ 4/2544 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญในข้อการประชุมที่ 6.4 เรื่อง พิจารณาการขอเปลี่ยนสถานภาพของ “สมาคมกอล์ฟอาชีพไทย” สรุปในเนื้อหามีใจความว่า ทางสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย มีมติเห็นด้วยกับการที่สมาคมกอล์ฟอาชีพไทยจะยกระดับการบริหารจัดการเป็นสมาคมฯที่ดำเนินการบริหารโดยตนเอง และขอใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” กับทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย และได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

ในปี พ.ศ. 2545 การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สมาคมกอล์ฟอาชีพไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนนักกอล์ฟอาชีพ มีความเหมาะสมให้เป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สามารถใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ได้

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง นายกสมาคมกอล์ฟอาชีพไทย ที่ กก.5107/720 เรื่องอนุญาตให้ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” พร้อมแนบใบอนุญาตส่งมาให้ด้วย โดยในใบอนุญาตให้ไว้ ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 หลังจากนั้น สมาคมกอล์ฟอาชีพไทย ได้ทำการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ โดยยกเลิกระเบียบข้อบังคับเดิมทั้งหมดและใช้ข้อบังคับฉบับใหม่แทนพร้อมเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น “สมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย”

ในปี 2556 พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 มีผลใช้บังคับ และกำหนดให้เพิ่มคำว่า “กีฬา” อยู่หน้าคำว่า สมาคมของทุกสมาคมกีฬา ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ ดังกล่าว สมาคมกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับ และเปลี่ยนชื่อสมาคมฯ เป็น “สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย” โดยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2558

รายนามนายกสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย

ชื่อ – นามสกุล ปี
นายชะลอ จุลกะ พ.ศ. 2511 – 2517
นายสิทธิ์ สอนจัดสิน พ.ศ. 2517 – 2518
นายเปรม อ้นสำราญ พ.ศ. 2518 – 2520
นายมานพ ทัพพวิบูล พ.ศ. 2520 – 2528
นายสุกรี อ่อนฉ่ำ พ.ศ. 2528 – 2529
 นายประสิทธิ์ ทัพพวิบูล พ.ศ. 2529 – 2531
 นายพรเสก กาญจนจรี พ.ศ. 2531 – 2533
 นายโส ธนะวิสุทธิ พ.ศ. 2533 – 2534
 นายกำพล สินสืบผล พ.ศ. 2534 – 2536
นายสันติ ภิรมย์ภักดี พ.ศ. 2536 – 2542
นายพงษ์ศักดิ์ แดงช่วง พ.ศ. 2542 – 2544
พล.อ.อ.เสริมยุทธ บุญศิริยะ พ.ศ. 2544 – 2547
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล พ.ศ. 2548 – 2550
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2550 – 2551
นายบุญชู เรืองกิจ พ.ศ. 2551 – 2553
นายธงชัย ใจดี พ.ศ. 2553 – 2555
นายชยพัทธ์ สุนายนตร์ พ.ศ. 2555 – 2559
นายเมธี สุทัศน์ ณ อยุธยา พ.. 2559 – 2563
นายเมธี สุทัศน์ ณ อยุธยา พ.. 2563 – 2567
นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ พ.. 2567 – ปัจจุบัน

 

ปัจจุบันมีนักกอล์ฟอาชีพที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทยประมาณ 2,000 คน สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อการพัฒนาด้านการเล่นของนักกอล์ฟอาชีพอย่างต่อเนื่อง มีการจัดสอบเพื่อรับนักกอล์ฟเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ มีการจัดอบรมและสอบภาคทฤษฎี เพื่อพัฒนานักกอล์ฟที่เป็นสมาชิกให้มีความรู้ ความสามารถในด้านการฝึกสอนกอล์ฟ มีการส่งเสริมผู้ตัดสินกอล์ฟอาชีพ, แคดดี้อาชีพ, ผู้จัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพ และมุ่งพัฒนากีฬากอล์ฟอาชีพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

มีนักกอล์ฟอาชีพที่เป็นสมาชิกของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย สร้างผลงานในระดับนานาชาติได้อย่างมากมาย ได้เข้าร่วมการแข่งขันในองค์กรที่เป็นสมาชิกของ International Federation of PGA Tours เช่น Asian Tour,  Japan Tour, European Tour, PGA Tour ซึ่งเป็นองค์กรที่มีคะแนนสะสมในการจัดอันดับโลกอย่างเป็นทางการ นำชื่อเสียงของสมาคมฯ ชื่อเสียงของการกีฬาแห่งประเทศไทย และชื่อเสียงของประเทศไทย สู่วงการกอล์ฟของโลกอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์ของสมาคม

1. ส่งเสริมสนับสนุน กำกับ ควบคุม ดูแล พัฒนา เผยแพร่และดำเนินกิจกรรมกีฬากอล์ฟอาชีพภายในประเทศ
2. ส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ กฎข้อบังคับ มารยาทของการเล่นกีฬากอล์ฟ และดำเนินการจัดการแข่งขันภายในประเทศ โดยกำกับ ควบคุม และรับรองการจัดการแข่งขันกีฬากอล์ฟอาชีพให้มีมาตรฐานเป็นไปตามที่สมาคมกำหนดในแต่ละระดับสอดคล้องกับกฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟของ อาร์แอนด์เอ รูล์ ลิมิเต็ด
3. สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพนักกอล์ฟอาชีพ โดยมุ่งเน้นให้นักกอล์ฟอาชีพทั้งชาย หญิง และอาวุโส สามารถเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก
4. สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพ เพิ่มจำนวนนักกอล์ฟอาชีพประเภทแข่งขัน นักกอล์ฟอาชีพประเภทผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสินกีฬากอล์ฟ ผู้จัดการแข่งขันกีฬากอล์ฟ และแคดดื้อาชีพ
5. เพื่อร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟอาชีพตลอดจนดำเนินการประสานงานติดต่อร่วมมือกับองค์กรและประเทศต่างๆในนามประเทศไทยในด้านกีฬากอล์ฟอาชีพ
6. เพื่อส่งเสริมให้มีสมาชิกมาจากทั่วประเทศ
7. เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่สมาคมกำหนด
8. เพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความเป็นกลางและไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด
9. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และร่วมมือโดยใกล้ชิดกับสมาคมกอล์ฟอาชีพของประเทศต่างๆ อันจะนำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติโดยส่วนรวม